จักรยานพาหนะพลังคน (ตอน 1)

จักรยานพาหนะพลังคน (ตอน 1)

จักรยานพาหนะพลังคน (ตอน 1)

By Suntipop Nimlek

                “จักรยาน” ยานพาหนะที่ไม่เบียดเบียนพลังงานโลก แต่อาศัยพลังงานจากร่างกายมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่มีขีดจำกัด คือถ้าหมดก็พักสักหน่อยเดี๋ยวมีเติมเข้ามาอีก ไม่ว่าเส้นทางจะไกลแค่ไหน เหนือจรดใต้ ถ้ามีกาย แรงใจ และความพร้อมของรถจักรยาน ก็สามารถเตินทางไปถึงจุดหมายได้อย่างที่ตั้งใจไว้

ข้อดีของการปั่นจักรยานมีอีกหลายประการ อย่างแรกที่เห็นได้ก็คือเรื่องสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น อาการป่วยไข้ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างน้อยๆก็เรื่องไข้หวัดที่อากาศเปลี่ยนแปลงหน่อยๆก็อาการไม่ค่อยดีแล้ว จุดนี้ก็เหมือนจะหายไปได้ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน แต่ก่อนที่จะหันมาปั่นจักรยานกันเราต้องดูจุดประสงค์ของตัวเราเองด้วยครับว่าจะปั่นจักรยานเพื่ออะไร ปั่นไปทำงาน ปั่นไปซื้อของ ปั่นไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ หรือปั่นตามกระแสแฟชั่น อีกทั้งยังต้องดูด้วยว่าเส้นทางที่เราจะปั่นด้วยครับว่าสภาพเป็นอย่างไร เรียบสนิท ขรุขระ หรือต้องมีการหิ้วรถจักรยาน ขึ้น-ลง สะพานลอย สถานีรถไฟฟ้า บ้างหรือไม่ ดังนั้นการเลือกรถจักรยานคู่ใจจึงน่าจะเป็นประเด็นแรกที่ต้องคำนึงถึง เมื่อเลือกได้แล้วเราจะมีความสุขในการออกไปปั่นทุกๆวันครับ

จักรยานที่มีจำหน่ายในบ้านเรายุคนี้มีมากมายหลายแบบมาก ซึ่งถ้าย้อนกลับเวลากลับไปสัก 10-20 ปี จะเห็นได้ว่าจักรยานที่มีจำหน่ายในบ้านเราจะมีแค่ เสือหมอบ เสือภูเขา จักรายานแม่บ้าน แล้วก็จักรยาน BMX เท่านั้น แต่พอมายุคปัจจุบันแล้วจักรยานมีออกให้เลือกใช้ครบทุกความต้องการใช้งาน ยิ่งมีจักรยานเก่าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติม เราจึงได้เห็นรถจักรยานแบบแปลกๆ สวยๆ อีกมากมาย ตรงนี้เราไปทำความรู้จักกับจักรยานหลายๆแบบที่สามารถซื้อหาในบ้านเรากันก่อน จะได้เอาไว้พิจารณาซื้อหากันได้ ตามความต้องการรวมถึงจุดประสงค์ในการใช้งานของแต่ละคน


จักรยานเสือภูเขา” (Mountain Bike)

จักรยานเสือภูเขา หรือเรียกย่อๆว่า MTB จักรยานที่ถือว่าเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของคนที่จะคิดปั่นจักรยานอย่างจริงจังในบ้านเรา ซึ่งจริงๆแล้วรูปแบบของรถจักรยาน MTB มีออกมาใช้งานกันมาเนิ่นนานแล้ว โดยจุดประสงค์ของรถจักรยานเสือภูขั้นเน้นใช้งานตามเส้นทางทุรกันดาร ป่าเขา ตัวรถจึงมีการออกแบบที่แข็งแรง และทนทานต่อการใช้งานเป็นสำคัญ จุดนี้เลยทำให้น้ำหนักโดยรวมของตัวรถแบบ MTB สูงไปหน่อย แต่ในยุคปัจจุบันการออกแบบ รวมถึงวัสดุการผลิตที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น อย่างการนำวัสดุอลูมิเนียมน้ำหนักเบา รวมถึงคาร์บอนไฟเบอร์มาทำเป็นเฟรมและอุปกรณ์ต่างของรถจักรยาน MTB ส่งผลให้น้ำหนักโดยรวมของจักรยานเสือภูเขาลดลงพอสมควร อีกทั้งราคาค่าตัวก็ยังไม่สูงมากนัก เลยทำให้ที่ผู้เริ่มหันมาปั่นจักรยานเลือกใช้เป็น “รถคันแรก” กัน ซึ่งจักรยานเสือภูเขาก็ยังมีแยกออกเป็นอีกหลายแบบเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกเอามาใช้งานได้ตรงตามความต้องการ และตรงวัตถุประสงค์ที่สุด


เสือภูเขาแบบฮาร์ดเทล(Hard Tail)

รูปทรงของตัวรถจะมีจุดเด่นที่ด้านหน้า ส่วนของตะเกียบจะออกแบบให้มีลักษณะเป็นช็อคอับ สามารถซับแรงกระแทกจากเส้นทางที่ขรุขระได้ ส่วนด้านหลังจะเป็นโครงเหมือนกับจักรยานทั่วไป นักปั่นจักรยานในบ้านเราจะเรียกรถแบบนี้ว่า “หางแข็ง” อีกทั้งยังมีการติดตั้งระบบเกียร์ที่ช่วยให้การปั่นจักรยานมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ระบบเกียร์จะมีให้ใช้งานที่ 18 หรือ 21 เกียร์ ปัจจุบันทางผู้ผลิตได้ติดตั้งระบบเกียร์มาให้เสือภูเขาระดับต้นๆถึง 27 หรือ 30 เกียร์แล้ว ส่วนจุดเด่นของจักรยานแบบ “หางแข็ง” นี้ อีกอย่างคือน้ำหนักโดยรวมของรถไม่สูงมากนัก ทำให้การใช้งานคล่องตัว ไม่กินแรงของผู้ปั่น อีกทั้งยังครอบคลุมการใช้งานได้หลากหลาย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นปั่นจักรยานออกกำลังกาย จนถึงผู้ปั่นจักรยานอย่างจริงจัง


เสือภูเขาแบบฟูล ซัสเพนชั่น (Full Suspension)

ตัวรถจักรยานแบบนี้จะพัฒนาต่อยอดมาจากรถ “หางแข็ง” คือจะมีระบบกันสะเทือนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ในบ้านเรานิยมเรียกสั้นๆว่า “ฟูล ซัส” ซึ่งจักรยานแบบนี้จะสามารถขับขี่ไปในเส้นทางที่ทุรกันดารมากขึ้น ตัวรถมีความแข็งแรงสูง ผู้ปั่นจะรู้สึกสบายและควบคุมง่ายกว่าจักรยานแบบแรก เนื่องตัวรถมีระบบกันสะเทือนหน้า-หลัง มาซับแรงสั่นสะเทือนที่ส่งมาถึงตัวผู้ขี่ ผู้ขี่เลยรู้สึกถึงความนุ่มนวลมากกว่า สังเกตุง่ายๆสำหรับจักรยานแบบนี้จะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่าช็อคอับติดตั้งอยู่ที่ตะเกียบหน้า และติดตั้งอยู่ที่โครงตัวถังด้านหลังด้วย ข้อด้อยของจักรายานแบบนี้ คือน้ำหนักของตัวรถที่เพิ่มมากเนื่องจากชิ้นส่วนโครงสร้างมีหลายชิ้นกว่า อีกทั้งราคาค่าตัวที่สูง จึงเหมาะกับผู้ปั่นที่มีประสบการณ์และจริงจังอีกระดับ   


เสือภูเขาแบบดาวน์ฮิลล์ (Down Hill)

ตัวลุยพันธุ์แท้ของรถจักรยานประเภทเสือภูเขา ลักษณะคล้ายจักรยานแบบ “ฟูล ซัส” แต่มีการออกแบบโครงสร้างและอุปกรณ์ของตัวรถที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของเฟรมและระบบกันสะเทือน โดยในส่วนของเฟรมจะมีขนาดที่ใหญ่ หนา และแข็งแรงสุดๆ ระบบกันสะเทือนทั้งหน้า-หลังก็ยิ่งแข็งแรง ทนทานเป็นพิเศษ อย่างช็อคอับด้านหน้าจะมีขนาดแกนที่ใหญ่มาก อีกทั้งช่วงยุบยังเยอะระดับ 150 ถึง 200 มิลลิเมตร ด้านหลังตัวช็อคอับก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน มองดูคล้ายๆรถจักรยานยนต์แบบโมโตครอสไม่น้อย รถจักรยานแบบดาวน์ฮิลล์นั้นเหมาะสำหรับเส้นทางที่ทุรกันดารมากๆ เป็นแนวดิ่งหรือลงเขาเสียส่วนใหญ่ อีกทั้งผู้ขี่ยังต้องมีประสบการณ์และทักษะในการควบคุมจักรยานที่ดีมากอีกด้วย เนื่องจากการขี่จักรยานเส้นทางแบบนี้มีอันตรายค่อนข้างสูงเลยทีเดียว


จักรยานเสือหมอบ (Road Bike)

จักรยานประเภท “เสือหมอบ” เป็นรถที่ถือกำเนิดมานานมากแล้วเห็นได้จากในอดีตมีการแข่งขันจักรยานประเภทนี้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะทั้งฝั่งยุโรป ตัวรถเน้นการใช้งานบนเส้นทางที่เรียบ อีกทั้งยังสามารถขับขี่ได้ด้วยความเร็วที่สูงพอสมควร จุดเด่นๆของจักรยานแบบนี้ตัวโครงสร้างมีขนาดที่เรียวเล็ก ลู่ลม ล้อมีรอบวงที่ใหญ่ หน้ายางมีขนาดแคบ ส่วนของตำแหน่งการขี่ อานนั่ง แฮนด์ จะถูกออกแบบบังคับให้ผู้ขี่ก้มต่ำมาก ส่งผลให้ไม่ต้านลมในการขับขี่ จักรยานเสือหมอบนั้นถ้าผู้ขี่มีแรงรวมถึงพละกำลังมาก สามารถขี่แล้วทำความเร็วได้ระดับ 50-60 กม./ชม. อย่างสบายๆ

ลักษณะของรถจักรยาน “เสือหมอบ” เฟรมตัวถังจะถูกออกแบบมาอย่างดีโดยคำนึงถึงความแข็งแรง การลู่ลม และน้ำหนักที่เบา เป็นสำคัญ จากอดีตวัสดุที่ใช้ทำเฟรมเป็นโลหะพวกเหล็กกล้า(Steel) ต่อมาเป็น โครโมลี่ (Chromoly) ตามมาด้วย อลูมิเนียม (Aluminium) ที่ช่วยให้ตัวรถมีน้ำหนักที่เบาและยังทำความเร็วได้สูงขึ้นกว่าเดิม และล่าสุดยุคปัจจุบันวัสดุที่นิยมที่สุดในการผลิตเฟรมของรถเป็น คาร์บอนคอมโพสิต (Carbon Composite) ที่มีการเสริมโครงสร้างคาร์บอนให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนของแฮนด์จะมีลักษณะโค้งงอลงด้านล่าง จุดประสงค์ให้ผู้ขี่ก้มต่ำเพื่อจับลดการต้านลมเวลาปั่นจักรยาน ส่วนของระบบส่งกำลังจะมีเกียร์ให้เลือกใช้งานเช่นเดียวกับจักรยานแบบเสือภูเขา แต่จะถูกออกแบบหน้าตาไม่เหมือนกันและไม่สามารถเอามาใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งในปัจจุบัน “เสือหมอบ” จะนิยมเกียร์ที่สามารถใช้งานได้ถึง 20 หรือ 22 เกียร์ เลยทีเดียว ดังนั้นนักปั่นจักรยานท่านใดชื่นชอบในเรื่องของความเร็วแบบเดียวกับการขับรถสปอร์ต หรือจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ก็น่าจะเลือก “เสือหมอบ” มาเป็นจักรยานคู่กาย....

 

 

 

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view